รายละเอียดบทความ
ชื่อเรื่อง |
พื้นที่ เวลา อัตลักษณ์ และการสร้างความหมายทางสังคม
|
ชื่อเรื่องรอง |
|
ชื่อผู้แต่ง |
|
หัวเรื่องคำสำคัญ |
|
หัวเรื่องควบคุม |
1. | พื้นที่ |
2. | เวลา |
3. | อัตลักษณ์ |
|
คำอธิบาย / บทคัดย่อ |
ในการใช้ชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการทำงาน รวมไปถึงช่วงเวลาพักผ่อน หากสังเกตเราพบว่าเราได้ทำกิจกรรมผ่านพื้นที่และเวลาในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ในพื้นที่และเวลาที่เราทำกิจกรรมต่างๆ เรายังแสดงออกถึงตัวตนที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ พื้นที่และเวลาทำให้เรารู้ว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อเราอยู่ในที่ทำงาน เราต้องแสดงออกในเขตที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ที่เราได้รับ หากเราเป็นเด็ก เราควรจะวางตัวให้ความเคารพยำเกรงกับผู้ใหญ่ แต่ในขณะที่เราอยุ่ท่ามกลางเพื่อนในงานเลี่ยง หรือการออนไลน์อยู่ในโลกเสมือน ตัวตน วิธีการสื่อสารการใช้คำพูดจะแตกต่างไปจากการทำงาน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่และเวลามีส่วนสำคัญในการเป็นกรอบกำหนดให้เราแสดงออกให้เหมาะสม พื้นที่และเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสาร โดยที่ผู้ใช้พื้นที่และเวลาอาจไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญเพราะเรามองว่าเป็นสิ่งที่คุ้นเคย แต่เมื่อมองอย่างพินิจพิเคราะห์พื้นที่และเวลาเป็นสิ่งที่สื่อความหมายทั้งความหมายโดยตรงและความหมายแฝงที่ต้องใช้การตีความ
การศึกษาแนวคิดของพื้นที่และเวลา (Space and time ) เป็นมุมมองที่มีนักวิชาการจากหลายสาขาที่ให้ความสนใจกับเรื่องของพื้นที่และเวลา อาทิ มุมมองด้านภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และวัฒนธรรมศึกษา ในแต่ละมุมมองจะอธิบายและให้นิยามของพื้นที่และเวลาที่มีทั้งจุดร่วมและจุดแตกต่างกัน ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะทบทวนแนวคิดในเรื่องพื้นที่ เวลา และอัตลักษณ์ โดยจะให้ความสำคัญกับแนวทางการศึกษา เรื่องพื้นที่และเวลาในมุมมองของวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งให้ความสนใจกับแนวทางการศึกษาของพื้นที่ทางวัฒนธรรม (Cultural place) และพื้นที่ของเมือง (Urban place) โดยในยุคแรกๆ การมองเรื่องของพื้นที่และเวลามักจะมองในแง่มุมที่จำกัดลัตายตัว ไม่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (Baker,,2008) เช่น การมองพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดเพียงแค่องค์ประกอบทางกายภาพ โดยไม่ได้มองลึกลงไปถึงกิจกรรมหรือการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายใต้พื้นที่นั้นๆ แต่เมื่อมุมมองในการศึกษาด้านพื้นที่และเวลาขยายออกไปในแนวคิดต่างๆ พื้นที่และเวลาได้รับการอธิบายและให้ความหมายใหม่ในมุมมองที่มีความเปลี่ยนแปลง ลื่นไหล ไม่หยุดนิ่ง เป็นการมองพื้นที่ เวลา และอัตลักษณ์ในมุมมองที่ท้าทายแนวความคิดเดิมการมองในมุมมองนี้เป็นการมองว่าพื้นที่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัว พื้นที่แต่ละแห่งมีกิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้นแตกต่างกัน กิจกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการนิยามความหมายของพื้นที่และส่งผลต่ออัตลักษณ์ของคนที่ใช้พื้นที่ รวมไปถึงภายใต้พื้นที่แต่ละแห่ง ภาพแห่งอุดมคติที่เราไม่สามารถอธิบายรายละเอียดได้เท่ากับกิจกรรมที่เกิดขึ้น เช่น การมองว่าบ้านคือ พื้นที่แห่งความอบอุ่นปลอดภัย แต่ขณะเดียวกันสำหรับบางคน บ้านอาจจะเป็นพื้นที่ที่อันตรายไม่ปลอดภัย เป็นต้น
จากความสนใจในเรื่องพื้นที่ เวลา และอัตลักษณ์ที่กล่าวไป เพื่อเป็นการทำให้ผู้อ่านเห็นภาพที่มาที่ไม่เกี่ยวกับ “พื้นที่ (Space)” ผู้เขียนจึงเริ่มต้นทบทวนแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับพื้นที่และเวลา จากนั้นจะเน้นไปที่การทบทวนแนวจากนักวิชาการที่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องพื้นที่ (Space) คือ Henri Lefebvre เป็นนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส และเป็นนักคิดคนสำคัญที่งานศึกษาส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของ Marx จัดอยู่ในกลุ่มนักวิชาการ Neo-Marxist แนวคิดของ Lefebvre ให้ความสำคัญกับการอธิบายเรื่องพื้นที่และเวลาไว้อย่างน่าสนใจจากผลงานที่มีชื่อว่า Production of Space ในปี 1974 งานศึกษาและแนวคิดของ Lefebvre เป็นงานที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาทางด้านทฤษฏีสังคมเมือง (Urban theory) และเกี่ยวข้องกับทางด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human geography) ซึ่งภมิศาสตร์มนุษย์จะเป็นสายที่เน้นการศึกษาไปที่ตัวมนุษย์ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เป็นการศึกษาวิเคราะห์ประสบการณ์ที่เกิดของมนุษย์ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่ ซึ่งความแตกต่างจากภูมิศาสตร์ทางกายภาพ (Physical geography) ที่ให้ความสนใจศึกษาในเชิงลักษณะข้อเท็จจริงของพื้นที่ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้นผิวโลก โครงสร้างของเมืองพื้นที่ทำเกษตรกรรม ทุ่งหญ้า แม่น้ำ อากาศ เป็นต้น (Robinson, 1969 : 5-7 ) ถึงแม้ว่างานศึกษาของ Lefebvre ในช่วงแรกยังไม่เป็นที่สนใจมากนัก แต่ในระยะเวลาต่อมามีการกล่าวถึงในวงกว้างและมีอิทธิพลต่อแวดวงการศึกษาในสาขาต่างๆ ที่หลากหลาย รวมไปถึงมีนักวิชาการที่นำแนวคิดเรื่องพื้นที่และเวลามาต่อยอดอธิบายกับมุมมองของการสื่อสาร
นอกจากมุมมองในเรื่องพื้นที่และเวลาในบริบทแบบตะวันตก ผู้เขียนได้ทบทวนแนวคิดเรื่องพื้นที่และเวลาในบริบทของสังคมไทย โดยเป็นการมองจากสายตาของนักวิชาการตะวันตกที่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องราวของประเทศไทยนำเสนอเป็นแนวทางที่อาจจะกระตุ้น ให้เราหันกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับบริบทของพื้นที่และเวลาในสังคมไทยหรือที่เราเรียกกันว่า “กาลเทศะ” ซึ่งมีผลต่อการสื่อสารในสังคมไทย
การนำเสนอเรื่องพื้นที่และเวลาจากแต่ละมุมมองซึ่งมีทั้งมุมมองจากฝั่งตะวันตก และมุมมองของแนวคิดที่มีอยู่ในสังคมไทย ผู้เขียนได้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องตัวตนหรืออัตลักษณ์ผ่านการใช้พื้นที่จากบริบทต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และนำเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องการสื่อสารกับพื้นที่และเวลา รวมไปถึงสะท้อนถึงมุมมองในเรื่องการสื่อสารผ่านบริบทที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ทางความคิดในเรื่องพื้นที่ (Space) และ (Time) ที่มีความเป็นสหวิทยาการจากแนวคิดทางด้านภูมิศาสตร์ (Geography) วัฒนธรรมศึกษา ( Cultural Studies) และการสื่อสาร (Communication) ที่เป็นตัวเชื่อมโยงและทำให้ก่อเกิดพื้นที่ทางความคิดในการศึกษาทางด้านการสื่อสารที่มีส่วนผสมของมุมมองที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น
|
รายละเอียดวารสารเพื่อติดตามอ่านบทความฉบับเต็ม (Full Text)