รายละเอียดบทความ
ชื่อเรื่อง |
ความพึงพอใจในการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ตของผู้เสียภาษีในเขตกรุงเทพมหานคร
|
ชื่อเรื่องรอง |
|
ชื่อผู้แต่ง |
1. | อุศณี กอจิตตวนิจ |
2. | มนวิกา ผดุงสิทธิ์ |
|
หัวเรื่องคำสำคัญ |
|
หัวเรื่องควบคุม |
|
คำอธิบาย / บทคัดย่อ |
กรมสรรพากรใช้ e-Revenue เป็นแกนนำในการพัฒนาองค์กรสู่การเชื่อมโยงบริการข้อมูลในระดับสากลโดยเริ่มใช้ e-Revenue ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 และได้เปิดให้บริการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านอินเทอร์เน็ตในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับของการยื่นและเสียภาษีของประชาชนครั้งใหญ่ เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประเภทภาษีที่มีฐานภาษีที่กว้างที่สุด ทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมากทั้งด้านความสะดวก การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ลดความผิดพลาดในการคำนวณภาษี เนื่องจากมีระบบตรวจสอบความถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่ทำให้ประชาชนบางส่วนเลือกที่จะไม่ใช้บริการ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 32 ของจำนวนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งประเทศโดยประมาณ
งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจของผู้เสียภาษีที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครต่อการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ตรวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้ธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตให้ดียิ่งขึ้น และทำให้การใช้บริการผ่านระบบสามารถตอบสนองการใช้งานกับผู้ยื่นแบบและชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างแท้จริง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ากับภาษีของประชาชนที่เสียไปให้ได้มากที่สุด
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับความพึงพอใจของผู้ยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ (1) ปัจจัยคุณภาพของระบบการชำระและขอคืนภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต (2) ปัจจัยคุณภาพของระบบการสมัครและการยื่นแบบแสดงรายการผ่านอินเทอร์เน็ต (3) ปัจจัยความปลอดภัยและการให้คำปรึกษา (4) ปัจจัยคุณภาพของเว็บไซต์และระบบแจ้งปัญหา และ (5) ความรู้ของผู้เสียภาษีในการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต และระดับการศึกษาสูงสุดเป็นลักษณะส่วนบุคคลเพียงลักษณะเดียวที่ทำให้ระดับความพึงพอใจของผู้ยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ จากการศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะพบว่า กรมสรรพกรควรเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเพื่อให้ผู้เสียภาษีสามารถแก้ไขข้อมูลในแบบแสดงรายการได้ ภายหลังจากกดยืนยันการส่งแบบแล้วใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อแก้ไขปัญหาระบบหยุดชะงักและล่มบ่อย พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลและทรัพย์สินของผู้เสียภาษี
|
รายละเอียดวารสารเพื่อติดตามอ่านบทความฉบับเต็ม (Full Text)