รายละเอียดบทความ
ชื่อเรื่อง บทบาทของภาคประชาสังคมในการกำกับดูแลเนื้อหาอินเตอร์เน็ต
ชื่อเรื่องรอง
ชื่อผู้แต่ง
1.เชิญพร คงมา
2.พิรงรอง รวมสูต
หัวเรื่องคำสำคัญ
หัวเรื่องควบคุม
1.อินเทอร์เน็ต -- การควบคุม -- ไทย
2.อินเทอร์เน็ต -- กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
3.เทคโนโลยีสารสนเทศ -- การจัดการ
4.นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ -- ไทย
คำอธิบาย / บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัตถุประสงค์และนโยบายบทบาทการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต และปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของภาคประชาสังคมที่ทำการศึกษาจำนวน 8 องค์กร ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยผู้วิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกประกอบการศึกษาเอกสาร ผลการศึกษาพบว่า วัตถุประสงค์และนโยบายขององค์กรภาคประชาสังคม ไม่ได้เน้นที่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต แต่เน้นการทำงานเชิงสังคม ซึ่งในภาพรวมแต่ละองค์กรมีวัตถุประสงค์และนโยบายการทำงานที่แตกต่างและคล้ายคลึงกัน ด้านการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต พบว่าองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำการศึกษามีบทบาทในการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต 2 แนวทางหลัก คือ 1) การปกป้องเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิกระจกเงา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และมูลนิเพื่อการพัฒนาเด็ก 2) การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ต ได้แก่ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย และเครือข่ายพลเมืองเน็ต องค์กรในภาคประชาสังคมที่มีความแตกต่างกันใน 2 แนวทาง มีบทบาทในการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันด้วย สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของภาคประชาสังคมในภาพรวมพบว่า ปัญหาที่สำคัญ คือ เงินทุน ความร่วมมือของภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคม บุคลากร ความตระหนังรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพสื่ออินเทอร์เน็ตในสังคมไทย และการสื่อสารภายในกลุ่ม นับตั้งแต่สังคมโลกมีการพัฒนาต่อเนื่องมาสู่ยุคสังคมสารสนเทศ ศูนย์กลางของข้อมูลและการสื่อสารเกิดการเปลี่ยนแปลง จากสื่อเดิมอย่างเครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ และโทรศัพท์ มาสู่สื่อใหม่ คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตจึงกลายเป็นสื่อใหม่ที่มีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวม ข่าวสาร ความรู้ต่างๆ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่งโลก การเติบโตของอินเตอร์เน็ตจึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม โดยเฉพาะประเด็นด้านเนื้อหาที่มักจะถูกนำเสนอเป็นข่าวระดับพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรุนแรง เรื่องเพศ ภาษาหยาบคาย การพนัน เว็บไซต์หลอกลวงชักชวนทำธุรกิจ การเผยแพร่ภาพตัดต่อ ตลอดจนการเข้าใช้เว็บไซต์มีลักษณะที่เป็นชุมชนที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น เว็บไซต์หาเพื่อน โพสต์ภาพ แชต ซึ่งต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวซึ่งอาจนำไปสูปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและล่อลวงต่างๆ ได้ ประเด็นที่เป็นความวิตกกังวลของสังคมอย่างมาก คือ การที่สื่อใหม่สามารถนำพาเยาวชนซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักกลุ่มหนึ่ง ไปสู่เนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายได้ ด้วยความอยู่ในวัยที่อยากรู้อยากเห็น และด้อยจิตวิจารณญาณ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอินเทอร์เน็ตในฐานะสื่อใหม่ได้เปิดปริมณฑลใหม่ทางการสื่อสารที่เปิดกว้างและมีเสรีภาพสูงกว่าสื่อดั้งเดิมอย่างวิทยุและโทรทัศน์ที่มีการรวมศูนย์ในการกลั่นกรองเนื้อหาและหนังสือพิมพ์ที่ต้องผลิตเนื้อหาภายในกรอบของกฎหมาย นักกิจกรรมสิทธิทางด้านเสรีภาพจำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารออนไลน์เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามที่จะปิดกั้นเนื้อหาบางประเภท โดยนำเรื่องของเนื้อหาภาพโป๊เปลือย ซึ่งเป็นประเด็นที่หมิ่นเหม่ทางศีลธรรมอย่างชัดเจนและเนื้อหาทางการเมืองที่เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีบริบทการแบ่งขั้วทางการเมืองสูงอย่างในปัจจุบันที่ความคิดเห็นแตกต่างจะถูกปิดกั้นโดยปริยาย จากการเนื้อหาอินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทำให้ประเด็นเรื่องการปกครองและการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตเป็นได้รับความสนใจอย่างสูงจากภาคส่วนต่างๆในสังคม ในขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นปริมณฑลแห่งการสื่อสารที่มีเสรีภาพสูง แลพอยู่นอกเหนือการปิดกั้น ควบคุม แทรกแซง ด้วยเหตุที่อินเตอร์เน็ตมีลักษณะพิเศษของอินเทอร์เน็ตที่มีความแตกต่างจากสื่อเดิม อินเทอร์เน็ตจึงเป็นพื้นที่ที่ต้องประสานผลประโยชน์ และความคาดหวังของหลายๆ ภาคส่วน หลายกลุ่มผลประโยชน์ นำไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม รวมทั้งตัวผู้อินเทอร์เน็ตเอง ต่างก็เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกลไกการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้กฎหมายจากภาครัฐ การกลั่นกรองเนื้อหาโดยผู้ให้บริการ การให้ความรู้เรื่องการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยจากภาคประชาสังคมและการกลั่นกรองเนื้อหาด้วยตัวเองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ภาคประชาสังคม (Civil Society) เป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญและเริ่มมีบทบาทในการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีการรวมตัวจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรเพื่อเข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในด้านต่างๆ โดยองค์กรที่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ต และมีบทบาทในการช่วยกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตนั้น เห็นได้ชัดจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ที่มีการเกิดขึ้นขององค์กรที่มีความใส่ใจในการป้องกันและป้องปรามปัญหาที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต ดังเช่น Enough Is Enough (EIE) และ องค์กร End Child Prostitution and Trafficking of Children for Sexual Purpose (ECPAT International) ส่วนบทบาทของภาคประชาสังคมในการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่ามีองค์กรภาคประชาสังคมที่มีอยู่เดิม เช่น องค์กรหรือมูลนิธิที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน และองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ เข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ต และมีบทบาทในการช่วยกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษา บทบาทขององค์กรในภาคประชาสังคมข้างต้นนี้ ในการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต เนื่องจากภาคประชาสังคมเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลที่มีความใส่ใจและมีความเข้าใจในปัญหา ดั้งนั้นบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมนี้ย่อมมีบทบาทหรือกิจกรรมที่น่าสนใจที่สามารถนำมาเป็นข้อเสนอแนะในการร่วมกำหนดแนวทางและแก้ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตที่มีมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมได้เป็นอย่างดี
รายละเอียดวารสารเพื่อติดตามอ่านบทความฉบับเต็ม (Full Text)
ชื่อวารสาร วารสารนิเทศศาสตร์
ปีที่ 28
ฉบับที่ 3
หน้าที่ 77 - 98
ปีพิมพ์ 2553
ชื่อสำนักพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อสำนักพิมพ์ภาษาอื่น
ISSN 0859-085x
ตำแหน่งในระบบ Link
ภาษา Thai
ติดต่อบรรณารักษ์
เพื่อยืมตัวเล่มวารสารไปถ่ายเอกสารบทความฉบับเต็ม

(บริการนี้สำหรับนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์นเท่านั้น)