รายละเอียดบทความ
ชื่อเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่าง หน้าที่งาน ทรัพย์สิน และความเสี่ยง กับความสามารถในการทำกำไร
ชื่อเรื่องรอง
ชื่อผู้แต่ง
1.วิภาดี วงศ์กีรติกุล
หัวเรื่องคำสำคัญ
หัวเรื่องควบคุม
1.กำไร -- การวิเคราะห์
คำอธิบาย / บทคัดย่อ ปรากฏการณ์ที่บางบริษัทสามารถทำกำไรได้มากกว่าบริษัทอื่น ทำให้นักวิจัยสนใจที่จะศึกษาและหาทฤษฏีเพื่อมาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ควบคุมหรือแสดงถึงคุณลักษณะและพฤติกรรมของบริษัทกับความสามารถในการทำกำไร ทั้งนี้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ดังกล่าว มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาคและมหาภาคในระดับจุลภาค บริษัทสามารถนำความสัมพันธ์ดังกล่าวมาช่วยใช้ในการบริหารเพื่อเพิ่มผลกำไร และช่วยจัดสรรกำไรผ่านทางราคาโอนระหว่างบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัทที่มีธุรกรรมระหว่างกัน ทั้งนี้ OECD (1996) ได้เสนอให้ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่งานที่บริษัททำทรัพย์สินที่บริษัทใช้ ความเสี่ยงที่บริษัทได้รับ กับความสามารถในการทำกำไร ภายใต้เงื่อนไขของกลยุทธ์ที่บริษัทใช้ และอุตสาหกรรมหลักที่บริษัทอยู่มาช่วยในการจัดสรรกำไรให้แต่ละบริษัทย่อยผ่านทางราคาโอน ในระดับมหาภาคการที่บริษัทต่างๆ มีความสามารถในการทำกำไรดี บริษัทสามารถนำกำไรไปลงทุนเพิ่มเพื่อขยายการผลิตและจ้างงานเพิ่ม ในขณะที่ภาครัฐก็สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญ ในการเพิ่มความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่า หน้าที่งาน ทรัพย์สิน และความเสี่ยงประเภทต่างๆกับความสามารถในการทำกำไร (โดยคำนึงถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมหลัก) ยังได้ถูกภาครัฐของประเทศต่างๆนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาโอน (เช่น คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.113/2545) การที่กลุ่มบริษัทข้ามชาติมักจะตั้งบริษัทย่อยในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นฐานการผลิต ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงมีผลต่อต้นทุนภาษีที่เกิดขึ้นกับบริษัทย่อยผ่านทางราคาโอน และในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและขนาดทางการค้าของกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีกับประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ในมุมมองของภาครัฐ ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยให้การกำหนดราคาโอนทางภาษีมีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสมัครใจในการเสียภาษี ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับผู้ผลิตขนาดใหญ่และในประเทศไทยหรือไม่ และอย่างไร ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้พิจารณาหน้าที่งานหลัก ที่บริษัทผู้ผลิตทั่วไปต้องทำ 5 ประการ คือ การวิจัยและพัฒนา (‘RD’) การผลิต (‘PROD’) การตลาด (‘MKT’) การเงิน (‘FIN’) และการบริหารบุคคล (‘HR’) (Hitt & Ireland, 1985; Hitt et al., 1982) ในขณะเดียวกันสำหรับทรัพย์สินที่ผู้ผลิตทั่วไปต้องใช้ ซึ่งมี 2 ประเภทคือ ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ผู้วิจัยได้พิจารณาเฉพาะทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง เพราะมีบทบาทในการสร้างกำไรให้บริษัทมากกว่า (Gabrielsson et al., 2004; Hitt et al., 2001) ทั้งนี้ Deramus (1999) ได้เน้นที่ทรัพย์สินไม่มีรูปร่างด้านการผลิต (‘TECH’) และทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างด้านการตลาด (‘BRAND’) นอกจากนั้น สำหรับความเสี่ยงที่ผู้ผลิตทั่วไปต้องแบกรับมี 2 ประเภทคือ ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (มีผลต่อบริษัทโดยทั่วไปทั้งตลาด) และที่ไม่เป็นระบบ (มีผลเฉพาะต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่ง) ผู้วิจัยได้พิจารณาเฉพาะความเสี่ยงเป็นระบบ เพราะมีผลกระทบต่อบริษัทมากกว่า (Fama & French, 1992; Sharpe, 1964) ซึ่งที่สำคัญได้แก่ ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ (‘GDP’) และความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (‘INT’) ส่วนในการวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ผู้วิจัยได้ใช้มาตรวัด 3 ตัว คือ กำไรสุทธิต่อยอดขาย (‘NPOS’) กำไรสุทธิต่อทรัพย์สิน (‘NPOA’) และกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (‘NPOE’) (Hitt et al., 1982; Wattanakul, 2002) ทั้งนี้กำไรสุทธิ ยอดขาย และทรัพย์สินจะต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ เท่านั้น โดยไม่รวมรายการพิเศษอื่นๆ นอกจากนั้นกลยุทธ์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักก็ได้ถูกนำมาศึกษาในฐานะตัวแปรปรับที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม Miller (1988a) สรุปว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 ประเภทที่เสนอโดย Porter (1980) โดยพื้นฐานแล้วมี 2 ประเภทคือ กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน (‘COST’) และกลยุทธ์ด้านความแตกต่าง (‘DIF’) เนื่องจากกลยุทธ์การเน้นเฉพาะด้านสามารถถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทั้งสองได้ ส่วน Hooley et al. (1999) ได้แบ่งอุตสาหกรรมหลักตามประเภทของผู้ซื้อสินค้าออกเป็นอุตสาหกรรมสินค้าผู้ผลิต (‘PRODUCER’) ซึ่งผลิตสินค้าให้กับผู้ผลิตเพื่อนำไปแปรรูปอีกทอดหนึ่งหรือช่วยในการผลิต และอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (‘CONSUMER’) ซึ่งผลิตสินค้าให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปใช้ตอบสนอง ความต้องการส่วนตัว ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้นำมุมมองด้านทรัพยากรของบริษัท (Resource-based view of firm) มาประยุกต์ใช้ในการสร้างมาตรวัดหน้าที่งานและทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง และนำแบบจำลองการกำหนดราคาทรัพย์สินทุน (Capital asset pricing model) มาประยุกต์ใช้ในการสร้างมาตรวัดความเสี่ยง ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์ทางวิชาการ เนื่องจากเป็นการช่วยยืนยันว่าทฤษฏีทั้งสอง (ซึ่งเป็นทฤษฏีหลักในสาขาการจัดการเชิงกลยุทธ์ และสาขาเศรษฐศาสตร์ทางการเงินตามลำดับ) สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับบริษัทในประเทศไทยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง RD, PROD, MKT, FIN, HR, TECH, BRAND, GDP, และ INT กับ NPOS, NPOA และ NPOE รวมทั้งศึกษาความแตกต่างของความสัมพันธ์ดังกล่าวระหว่างบริษัทที่ใช้กลยุทธ์ COST และกลยุทธ์ DIF และระหว่างบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม PRODUCER และอุตสาหกรรม CONSUMER
รายละเอียดวารสารเพื่อติดตามอ่านบทความฉบับเต็ม (Full Text)
ชื่อวารสาร วารสารวิชาชีพบัญชี
ปีที่ 5
ฉบับที่ 14
หน้าที่ 29
ปีพิมพ์ 2552
ชื่อสำนักพิมพ์ ภาควิชาการบัญชี คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชื่อสำนักพิมพ์ภาษาอื่น
ISSN 1686-8293
ตำแหน่งในระบบ Link
ภาษา Thai
ติดต่อบรรณารักษ์
เพื่อยืมตัวเล่มวารสารไปถ่ายเอกสารบทความฉบับเต็ม

(บริการนี้สำหรับนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์นเท่านั้น)